ไม่ทราบว่ากลองกิ่งมีมาแต่เมื่อใด แต่จะนำมาใช้แห่ในบุญเดือนหก (บุญบั้งไฟ) หลังจากเสร็จแห่ก็นำมาเส็งกลองกัน (ตีแข่งกัน)
กลองกิ่งทำจากไม้ประดู่แดง ทำเป็นรูปทรงกระบอกกลวง ด้านหน้ากลองกว้างประมาณ ๔๐ เซนติเมตร ด้านล่างกลอง (ก้นกลอง) กว้างประมาณ ๓๐ เซนติเมตร มีความสูงประมาณเท่าครึ่งของความกว้างหน้ากลอง หุ้มด้วยแผ่นหนังทั้งด้านหน้า และด้านล่างดึงเข้าหากันโดยใช้หนังเรียกว่าหนังชักและหนังหูกลอง ข้างกลองห่างจากหน้ากลองประมาณ ๒๐ เซนติเมตร เจาะเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนาด ๑๐ x ๑๕ เซนติเมตร เรียกว่า รูแพ เพื่อเป็นการระบายเสียงเวลาตี ข้างในกลองเหนือรูแพจะเป็นปุ่ม เรียกว่า ลิ้นกลอง เพื่อทำหน้าที่ปรับระดับเสียงของกลอง

การขุดกลอง  ก่อนลงมือขุดกลอง ช่างต้องเลือกต้นไม้ที่มีลักษณะของเซลส์ไม้ตรง ไม่คู้หรือมีตา มีเส้นผ่าศูนย์กลางของแกนไม้ ประมาณ ๕๐ เซนติเมตร สูงประมาณ ๑ เมตร จำนวนสองท่อน เครื่องมือที่ใช้ขุดได้แก่ขวาน สิ่ว สว่าน เสียม กบ และง่อง โดยขุดตรงกลางขอนไม้ให้กลองเป็นโพรง มีความหนาบางตามความต้องการของช่าง

การทำหนังหน้ากลอง  เดินนิยมทำจากหนังวัว ปัจจุบันนิยมใช้หนังควาย เพราะเหนียวและทนทานกว่า เวลาตีจะดังกว่าหนังวัว โดยจะเลือกหนังควาย ที่มีอายุประมาณ ๕ – ๑๐ ปี และไม่อ้วนเกินไป ควายตัวหนึ่งจะทำหนังหน้ากลองได้สองหน้า ส่วนที่เหลือใช้ทำก้นกลอง หนังหูกลองและหนังชัก  ก่อนนำหนังไปห่มหน้ากลอง ต้องผึ่งแดดให้แห้ง แล้วใช้มีดที่คมมากขูดให้หนังบางจนเป็นที่พอใจ (ยิ่งหนังบาง กลองยิ่งมีเสียงดัง)

ไม้ตีกลอง นิยมทำจากไม้เต็ง เพราะมีคุณสมบัติเหนียวทนทาน เวลาตีมีน้ำหนักดี ไม้ยาวประมาณ ๗๐ เซนติเมตร เหลาให้กลมตรงปลายไม้ มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑ เซนติเมตร ขัดด้วยกระดาษทราย ตรงโคนไม้บริเวณมือจับพันด้วยผ้าให้พอดีถ้าเวลาตี

การเส็งกลอง นิยมตีแข่งกันบนเวทีเป็นคู่ ๆ  แต่ละคู่ต้องมีกลองสองใบ ต้องตรึงหน้ากลองให้ตึงที่สุด โดยการหมุน (ขัน) หนังชักของกลองเข้าที่ จะค่อย ๆ ปรับระดับเสียงของกลองแต่ละคู่ให้มีเสียงเดียวกัน (เคงกลอง)  จากนั้นนำกลองที่เตรียมไว้ดีแล้วตั้งประกบคู่บนเวที หันด้านรูแพของกลองเฉียงเข้าหาคู่แข่งขันไปสู่ผู้ฟัง
                
     การตีกลองแข่งขัน ตีฝ่ายละห้าคน ๆ ละหนึ่งยก ยกละประมาณสองนาที การตัดสินจะพิจารณาจากเสียงกลอง คู่ที่ชนะต้องมีเสียงใส แหลมสูง และต้องตีให้ชนะสามในห้ายก และกลองต้องไม่ขาด