กลองกิ่งหรือกลองเส็ง

ไม่ทราบว่ากลองกิ่งมีมาแต่เมื่อใด แต่จะนำมาใช้แห่ในบุญเดือนหก (บุญบั้งไฟ) หลังจากเสร็จแห่ก็นำมาเส็งกลองกัน (ตีแข่งกัน)กลองกิ่งทำจากไม้ประดู่แดง ทำเป็นรูปทรงกระบอกกลวง ด้านหน้ากลองกว้างประมาณ ๔๐ เซนติเมตร ด้านล่างกลอง (ก้นกลอง) กว้างประมาณ ๓๐ เซนติเมตร มีความสูงประมาณเท่าครึ่งของความกว้างหน้ากลอง หุ้มด้วยแผ่นหนังทั้งด้านหน้า และด้านล่างดึงเข้าหากันโดยใช้หนังเรียกว่าหนังชักและหนังหูกลอง ข้างกลองห่างจากหน้ากลองประมาณ ๒๐ เซนติเมตร เจาะเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนาด ๑๐ x ๑๕ เซนติเมตร เรียกว่า รูแพ เพื่อเป็นการระบายเสียงเวลาตี ข้างในกลองเหนือรูแพจะเป็นปุ่ม เรียกว่า ลิ้นกลอง เพื่อทำหน้าที่ปรับระดับเสียงของกลอง การขุดกลอง  ก่อนลงมือขุดกลอง ช่างต้องเลือกต้นไม้ที่มีลักษณะของเซลส์ไม้ตรง ไม่คู้หรือมีตา มีเส้นผ่าศูนย์กลางของแกนไม้ ประมาณ ๕๐ เซนติเมตร สูงประมาณ ๑ เมตร จำนวนสองท่อน เครื่องมือที่ใช้ขุดได้แก่ขวาน สิ่ว สว่าน เสียม กบ และง่อง โดยขุดตรงกลางขอนไม้ให้กลองเป็นโพรง มีความหนาบางตามความต้องการของช่าง การทำหนังหน้ากลอง  เดินนิยมทำจากหนังวัว ปัจจุบันนิยมใช้หนังควาย เพราะเหนียวและทนทานกว่า […]

ฟ้อนละคอน

การฟ้อนละคอนเป็นการฟ้อนของหนุ่มๆผู้ไทยสมัยโบราณซึ่งในขณะนั้นการรวมกลุ่มฟ้อนละคอนมิได้มีการนัดหมาย เกิดจากเป็นช่วงหน้าเทศกาลหรืองานบุญประเพณี เช่น บุญเดือนสิบ บุญออกพรรษา หนุ่มๆชาวผู้ไทยจะลงไปรวมตัวกันเพื่อฉลองในงานบุญ ส่วนเครื่องแต่งกายนั้นก็อยู่ที่ว่าหนุ่มไหนจะมีสาวไหนรักหรือชอบ สาวนั้นก็จะเตรียมเครื่องแต่งกายมาให้หนุ่มที่ตนเองแอบพึงใจอยู่ โดยฝากผ่านทางพ่อสื่อและแม่สื่อ ซึ่งเครื่องแต่งกายก็จะมี ผ้าโสร่ง ผ้าเข็นหางกระรอก ผ้าแพรวาผืนเล็กส่วนประกอบอื่นๆก็แล้วแต่สาวๆจะหามาให้ซึ่งนั่นก็เท่ากับบ่งบอกถึงลักษณะนิสัยของสาวๆที่มาแอบชอบหนุ่มคนนั้นว่าจะขยันหรือไม่ ถ้ามีเครื่องแต่งกายมาให้หนุ่มมากก็แสดงว่าสาวคนนั้นทอผ้าเป็น สามารถมีคู่ครองได้แล้ว การฟ้อนละคอนสมัยโบราณนั้นจะมีเครื่องดนตรีประกอบ ประกอบ คือ หลองหางหรือปัจจุบันเรียกกลองยาว และฉาบ คนเล่นดนตรีก็จะเล่นไปส่วนหนุ่มๆผู้ไทยสมัยนั้นก็ออกลีลาท่ารำแล้วแต่ความพอใจของแต่ละบุคคล ฟ้อนละคอนนั้นถูกลืมมาช่วงระยะเวลาหนึ่ง จนมาในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ ท่านกำนันคำมูล  ลามุล ได้รื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ โดยรวบรวมเอากลุ่มพ่อบ้านที่มีอายุมาฟ้อนละคอน จนมาถึงสมัยพลเอกชวลิต  ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี คณะฟ้อนละคอนของท่านกำนันคำมูล ได้มีโอกาสพาคณะลงไปฟ้อนแสดงที่กรุงเทพมหานคร จนได้รับความชื่นชมในการนำศิลปพื้นบ้านอีสานของชนเผ่าผู้ไทยไปเผยแพร่  จนต่อมาในช่วงปี พ.ศ.๒๕๔๐  ได้มีปราชญ์ชาวบ้านคือ คุณตาจารย์เม็ง ศรีคิรินทร์   ได้ดัดแปลงท่ารำของฟ้อนละคอนให้เป็นท่ารำที่เป็นระบบขึ้น โดยเปลี่ยนผู้รำจากผู้ชายมาเป็นผู้หญิง และเพิ่มเครื่องดนตรี เช่น วงโปงลาง พิณ แคน โหวต เข้ามาเล่นประกอบจังหวะให้มีทำนองสนุกสนานเพิ่มขึ้น ปัจจุบันการฟ้อนละคอนจะใช้ฟ้อนในงานบุญประเพณี เช่น บุญบั้งไฟและบุญประเพณีต่างๆ ต้อนรับแขกผู้มาเยือน รวมทั้ง งานรื่นเริงต่างๆ ส่วนเครื่องแต่งกายก็จะมีเพิ่มมากขึ้น ประกอบไปด้วย ผ้าแพรวาผืนเล็ก […]

ความเป็นมาผ้าไหมแพรวากาฬสินธุ์

ประวัติความเป็นมาผ้าไหมแพรวากาฬสินธุ์ประวัติ          ผ้าแพรวา เป็นชื่อเฉพาะที่เรียกผ้าชนิดหนึ่ง ที่ใช้สำหรับคลุมไหล่หรือห่มสไบเฉียงของชาวผู้ไทย ซึ่งใช้ในงานเทศกาล บุญประเพณีหรืองานสำคัญอื่นๆ เป็นผ้าที่ทอด้วยมือ แพร หมายถึง ผ้า วา หมายถึงความยาวของผ้า 1 วา คำว่า แพรวา จึงมีความหมายว่า ผ้าที่มีความยาวประมาณ 1 วา           ชาวผู้ไทย เป็นกลุ่มชนที่อพยพมาจากประเทศจีนตอนใต้ ข้ามแม่น้ำโขงเข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่แถบเทือกเขาภูพาน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยเป็นส่วนใหญ่ โดยยังรักษาวัฒนธรรมประเพณี ความเชื่อ การแต่งกาย และการทอผ้าไหม ผู้หญิงจะถูกฝึกทอผ้าแพรวาตั้งแต่อายุ 9 – 15 ปี ชาวผู้ไทยที่ทอผ้าแพรวาส่วนใหญ่จะอยู่ที่บ้านโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่มีภูมิปัญญาในการทอผ้าไหมด้วยการเก็บลาย หรือเก็บขิดแบบจกที่มีลวดลายโดดเด่นที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ประกอบการเลือกใช้เส้นไหมน้อย หรือไหมยอดที่มีความเลื่อมมัน ผ้าไหมแพรวาถือว่าเป็นของล้ำค่าและมีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของชาวผู้ไทยจังหวัดกาฬสินธุ์อย่างแท้จริง ดังคำขวัญจังหวัดกาฬสินธุ์ที่ว่า เมืองฟ้าแดดสงยาง โปงลางเลิศล้ำ วัฒนธรรมผู้ไทย ผ้าไหมแพรวาผาเสวยภูพาน มหาธารลำปาว ไดโนเสาร์สัตว์โลกล้านปี           เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2520 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ […]