การฟ้อนละคอนเป็นการฟ้อนของหนุ่มๆผู้ไทยสมัยโบราณซึ่งในขณะนั้นการรวมกลุ่มฟ้อนละคอนมิได้มีการนัดหมาย เกิดจากเป็นช่วงหน้าเทศกาลหรืองานบุญประเพณี เช่น บุญเดือนสิบ บุญออกพรรษา หนุ่มๆชาวผู้ไทยจะลงไปรวมตัวกันเพื่อฉลองในงานบุญ ส่วนเครื่องแต่งกายนั้นก็อยู่ที่ว่าหนุ่มไหนจะมีสาวไหนรักหรือชอบ สาวนั้นก็จะเตรียมเครื่องแต่งกายมาให้หนุ่มที่ตนเองแอบพึงใจอยู่ โดยฝากผ่านทางพ่อสื่อและแม่สื่อ ซึ่งเครื่องแต่งกายก็จะมีผ้าโสร่ง ผ้าเข็นหางกระรอก ผ้าแพรวาผืนเล็กส่วนประกอบอื่นๆก็แล้วแต่สาวๆจะหามาให้ซึ่งนั่นก็เท่ากับบ่งบอกถึงลักษณะนิสัยของสาวๆที่มาแอบชอบหนุ่มคนนั้นว่าจะขยันหรือไม่ ถ้ามีเครื่องแต่งกายมาให้หนุ่มมากก็แสดงว่าสาวคนนั้นทอผ้าเป็น สามารถมีคู่ครองได้แล้ว การฟ้อนละคอนสมัยโบราณนั้นจะมีเครื่องดนตรีประกอบ
ประกอบ คือ หลองหางหรือปัจจุบันเรียกกลองยาว และฉาบ คนเล่นดนตรีก็จะเล่นไปส่วนหนุ่มๆผู้ไทยสมัยนั้นก็ออกลีลาท่ารำแล้วแต่ความพอใจของแต่ละบุคคล ฟ้อนละคอนนั้นถูกลืมมาช่วงระยะเวลาหนึ่ง จนมาในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ ท่านกำนันคำมูล ลามุล ได้รื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ โดยรวบรวมเอากลุ่มพ่อบ้านที่มีอายุมาฟ้อนละคอน
จนมาถึงสมัยพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี คณะฟ้อนละคอนของท่านกำนันคำมูล ได้มีโอกาสพาคณะลงไปฟ้อนแสดงที่กรุงเทพมหานคร จนได้รับความชื่นชมในการนำศิลปพื้นบ้านอีสานของชนเผ่าผู้ไทยไปเผยแพร่ จนต่อมาในช่วงปี พ.ศ.๒๕๔๐ ได้มีปราชญ์ชาวบ้านคือ คุณตาจารย์เม็ง ศรีคิรินทร์ ได้ดัดแปลงท่ารำของฟ้อนละคอนให้เป็นท่ารำที่เป็นระบบขึ้น โดยเปลี่ยนผู้รำจากผู้ชายมาเป็นผู้หญิง และเพิ่มเครื่องดนตรี เช่น วงโปงลาง พิณ แคน โหวต เข้ามาเล่นประกอบจังหวะให้มีทำนองสนุกสนานเพิ่มขึ้น ปัจจุบันการฟ้อนละคอนจะใช้ฟ้อนในงานบุญประเพณี เช่น บุญบั้งไฟและบุญประเพณีต่างๆ ต้อนรับแขกผู้มาเยือน รวมทั้ง งานรื่นเริงต่างๆ ส่วนเครื่องแต่งกายก็จะมีเพิ่มมากขึ้น ประกอบไปด้วย ผ้าแพรวาผืนเล็ก ๓ ผืนสีแดง ผ้าเข็นหางกระรอก ๑ ผืน กางเกงขาสั้นหรือขาก๊วยสีดำหรือสีขาวก็ได้ ส่วนเสื้อก็เป็นเสื้อแขนสั้นสีขาวหรือ
สีดำก็ได้ นอกจากนี้ยังมีหมวก ๑ ใบและผ้าแพรมนแพรวา ๑ ผืน เพื่อคลุมที่หมวกให้คนที่ฟ้อนละคอนสวมใส่ นอกจากนั้นก็ยังต้องใส่เล็บหรือที่ผู้ไทยเรียกว่า“ตวยมือ” มาสวมใส่ ส่วนข้อมือและข้อเท้าก็สวมใส่กำไลเงิน ส่วนรองเท้าก็จะไม่ค่อยสวมใส่แต่ถ้าจะใส่ก็ได้คือรองเท้าผ้าใบสีดำหรือไม่ต้องสวมเลยก็ได้ ส่วนจำนวนของนักแสดงนั้นอายุประมาณ ๑๒-๑๘ ปี หรือเพิ่มขึ้นตามความต้องการ ลักษณะการยืนต้องยืนเป็น ๓ แถว เพื่อความสวยงามในการฟ้อนละคอน ปัจจุบันนี้ฟ้อนละคอนได้รับความนิยมจากผู้พบเห็นจนกลายเป็นการฟ้อนประจำหมู่บ้านโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์และถือว่าเป็นศิลปะการแสดงทางด้านฟ้อนรำที่สวยงามเป็นเอกลักษณ์ของชาวผู้ไทย บ้านโพน