สภาพทั่วไปจังหวัดกาฬสินธุ์
          จังหวัดกาฬสินธุ์  ตั้งอยู่บริเวณตอนกลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ห่างจากกรุงเทพฯ  ประมาณ  519  กิโลเมตร  มีพื้นที่ 6,947 ตารางกิโลเมตร  หรือประมาณ  4.3  ล้านไร่   อยู่สูงกว่าระดับ  น้ำทะเลปานกลาง  100  –  300  เมตร  ฝนตกเฉลี่ย   1,400  มม./ปี   อุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุด   19    องศาเซลเชียส  และสูงสุด  31.9  องศา เซลเซียส  ภูมิประเทศเป็นป่าไม้  เทือกเขา  และเนินเขา  มีพื้นที่ราบที่ใช้ทางการเกษตรไม่มากนัก  สภาพดินมีศักยภาพทางการเกษตรปานกลาง  ประกอบด้วย  ดินไร่ซึ่งส่วนใหญ่  อยู่ด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกของจังหวัด  ดินนาส่วนใหญ่อยู่ทางตอนล่างของจังหวัด  และดินไร่  คละดินนา กระจายทั่วไป  มีดินที่มีปัญหาคือ  ดินเค็มประมาณร้อยละ 10  ของพื้นที่ของจังหวัด  และดินทรายซึ่งอยู่กระจัดกระจายบริเวณซีกตะวันออกของจังหวัด   พื้นที่ถือครองทางการเกษตรมีประมาณ  2.3  ล้านไร่
ร้อยละ  65.2  เป็นที่นา  ร้อยละ  30.4   เป็นที่ไร่  ที่เหลือเป็นไม้ยืนต้นและพืชอื่น

         กาฬสินธุ์ มีแหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญ  ได้แก่  ลำน้ำปาว  ลำน้ำชี   และลำน้ำยัง  และยังมีลำห้วย อีกหลายสาย  ที่สำคัญ  ได้แก่   ห้วยโพธิ์  ห้วยสีทน  ห้วยแกง  และห้วยผึ้ง   แหล่งน้ำชลประทานมีโครงการขนาดกลางและขนาดใหญ่  17  โครงการ  ครอบคลุมพื้นที่ชลประทานทั้งสิ้น   406,500  ไร่  คิดเป็นร้อยละ  9.3 ของพื้นที่การเกษตร   โครงการชลประทานขนาดใหญ่ได้แก่โครงการชลประทานลำปาว  ซึ่งมีความจุเก็บกักน้ำ  1,430  ล้านลูกบาศก์เมตร   สามารถส่งน้ำไปยังพื้นที่เพาะปลูก  338,000 ไร่ และในฤดูแล้งสามารถช่วยพื้นที่เพาะปลูกได้ 212,000 ไร่ โครงการชลประทานขนาดกลาง 16 โครงการเก็บกักน้ำได้ 76 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่งน้ำเพื่อการเพาะในฤดูฝนได้ 65,830 ไร่ และฤดูแล้งได้ประมาณ 20,000 ไร่ นอกจากนี้ยังมีสถานีน้ำด้วยไฟฟ้า 16 สถานี มีพื้นที่ส่งน้ำรวม 26,400 ไร่ ปริมาณน้ำสำรองสำหรับทุกกิจกรรมของ จังหวัดประมาณ 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือประมาณ 4,800 ลิตรต่อคนต่อวัน  กาฬสินธุ์มีพื้นที่ป่าไม้ 1.14 ล้านไร่      แต่เหลือพื้นที่ที่คงสภาพป่าเพียง 375,254 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 8.6 ของพื้นที่ทั้งจังหวัด แหล่งแร่ที่สำคัญได้แก่ โปรแตสและเกลือหินใต้แอ่งโคราช พบมากที่อำเภอยางตลาด และแร่ลิกไนต์ พบที่อำเภอสหัสขันธ์ และอำเภอกุฉินารายณ์